วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

ทนายไทยแฉคำพิพากษา2505 ไม่พบรับรองแผนที่เขมร

Pic_339394
ทนายไทยยกคำขอเขมรแค่ให้ศาลยืนยันของเดิม อัดเสแสร้ง ชี้คำขอผิดเงื่อนไขธรรมนูญศาล ส่วนทนายสาวชาวโรมาเนียแฉต่อดูคำพิพากษาไม่พบรับรองแผนที่ ชี้ให้เห็นต้องการขยายอาณาเขต 4.6 ตร.กม. ... 

ความคืบหน้าการแถลงต่อศาลโลกในประเด็นที่กัมพูชา ยื่นให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี พ.ศ.2505 เมื่อวันที่ 17 เม.ย. โดยนายโดนัล เอ็ม แม็คเรย์ ทนายความชาวแคนาดาของฝ่ายไทย ได้ขึ้นให้การด้วยวาจาต่อจากนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า ข้อพิพาทปัจจุบันที่กัมพูชาได้ยื่นให้ศาลตีความคำพิพากษาฯ นั้น ไม่มีความแน่นอนและข้อต่อสู้กัมพูชาก็ขัดกันเอง มีการเปลี่ยนท่าทีไปมาในเอกสารคำให้การทางข้อเขียน โดยกัมพูชาพยายามขอให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลเคยปฏิเสธ ซึ่งคำขอกัมพูชาที่ว่า “พันธกรณีของไทยที่ต้องถอนกำลังทหาร หรือตำรวจ หรือยาม หรือผู้เฝ้าอื่น ซึ่งประจำอยู่ที่ปราสาท หรือในบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนของกัมพูชา (วรรคปฏิบัติการที่ 2) เป็นผลจากพันธกรณีที่ต้องเคารพดินแดนกัมพูชาที่ได้รับการปักปันพื้นที่ปราสาทและบริเวณใกล้เคียง โดยเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งคำพิพากษาของศาลใช้เป็นพื้นฐาน” นั้น ไม่ใช่คำขอให้ศาลตีความ แต่เป็นการขอให้ศาลฯ ยืนยันสมมติฐานที่ว่าเขตแดนเป็นไปตามเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1 : 200,000 

ทนายความชาวแคนาดาของฝ่ายไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คำขอดังกล่าวเป็นเพียงการย้ำข้อความบทปฏิบัติการ และขอให้ศาลยืนยันสมมติฐานว่า “พื้นที่ปราสาทและบริเวณใกล้เคียงได้ถูกปักปันเขตแดนไปแล้วด้วยเส้นแผนที่ภาคผนวก 1” การขอยืนยันดังกล่าว เป็นส่วนต่อคำขอให้ศาลตัดสินพันธกรณีของไทยที่ต้องถอนกำลังออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียง เพราะหากกัมพูชาตั้งคำถามตรงๆ ก็จะได้คำตอบว่า ศาลในปี 2505 ปฏิเสธคำขอกัมพูชา 

นายโดนัล กล่าวต่อว่า การที่คำขอกัมพูชาไม่ปรากฏคำถามชัดเจนขอให้ศาลตีความนั้น ทำให้คำขอกัมพูชาไม่เข้าเงื่อนไขข้อ 60 ของธรรมนูญศาล และข้อ 98 วรรคสอง ของข้อบังคับศาล ที่กำหนดให้คำขอตีความต้องระบุประเด็นชัดเจน สำหรับการที่กัมพูชาขอให้ศาลตัดสินว่า ไทยต้องถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงปราสาท ก็เพื่อให้ศาลเข้าใจว่า พื้นที่พิพาทเดิมคือพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และเสแสร้งว่าพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นเป็นสิ่งที่ได้รับการตัดสินเมื่อปี 2505 และแม้ไทยจะยอมรับว่ามีข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และคัดค้านว่าไม่ได้อยู่ในดินแดนของกัมพูชา แต่ชี้ให้ศาลเห็นว่า ข้อพิพาทนี้ ไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการตีความข้อบทปฏิบัติการวรรค 2 ของคำพิพากษาปี 2505 อีกทั้งกัมพูชาเปลี่ยนคำขอตีความให้กว้างขึ้น ทำให้พบว่ามีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” ในวรรคปฏิบัติการที่ 1 จึงขอเพิ่มเติมให้ศาลตีความวรรคปฏิบัติการที่ 1 และความเชื่อมโยงระหว่างวรรคที่ 1 และ 2 ด้วย ซึ่งผิดเงื่อนไขข้อ 60 ของธรรมนูญศาลฯ เพราะคู่กรณีต้องมีข้อพิพาทเรื่องการตีความก่อนฟ้องศาล อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติการทั้งสองวรรค ไม่สามารถให้กัมพูชาขอตีความสิ่งที่ศาลปฏิเสธตัดสินไปแล้ว และศาลในวันนี้ควรจะปฏิเสธที่จะตัดสินเช่นกัน ซึ่งกัมพูชายังคงสร้างความสับสนเกี่ยวกับคำขอของตนเอง 

ด้านนางอลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนียของฝ่ายไทย ขึ้นให้การด้วยวาจาต่อจาก นายโดนัล เอ็ม แม็คเรย์ เรื่องพยานหลักฐานทางแผนที่ในคดีเดิม และแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของแผนที่ อัตราส่วน 1 : 200,000 หรือแผนที่แนบท้ายภาคผนวกที่ 1 ที่กัมพูชาเสนอต่อคณะผู้พิพากษาฯ ซึ่งเห็นชัดว่า คำร้องกัมพูชาใช้แผนที่อ้างอิงหลายฉบับ สังเกตได้จากคำว่า “maps” ที่เป็นพหูพจน์ จึงขอให้คณะผู้พิพากษาฯ พิจารณาให้รอบคอบ ทั้งนี้ แผนที่ที่กัมพูชาแสดงนั้น เป็นการเลือกใช้แผนที่ที่เป็นประโยชน์กับตนเอง โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ให้ความเห็นไว้ว่า แผนที่ดังกล่าวในทางสากลจะนำมาปฏิบัติใช้ได้จริงไม่ได้ เพราะผิดพลาดทางภูมิประเทศ และแม้กัมพูชาจะระบุหลายครั้งว่า ศาลโลกรับรองแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 ตามคำพิพากษาปี 1962 เมื่อทีมต่อสู้คดีนี้ของไทยค้นดูคำพิพากษาที่ยาวกว่า 1,500 หน้า ก็ไม่ปรากฏการบันทึกใดที่รับรองแผนที่ดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าในการพิพากษาในปี 1962 ศาลโลกใช้แผนที่ฉบับใดมาเป็นหลักในการพิจารณา 

ทนายความชาวโรมาเนียของฝ่ายไทย กล่าวต่อว่า หากนำแผนที่เก่าของกัมพูชาวางไว้บนแผนที่ปัจจุบันพบว่าไม่แม่นยำ ซึ่งสิ่งที่ทนายกัมพูชา ให้ถ้อยแถลงต่อคณะผู้พิพากษาฯ ว่าแผนที่ดังกล่าวขีดเส้นตัดกันระหว่างแผนที่ในภาคผนวก 1 และแนวเส้นสันปันน้ำ ถือว่าไม่น่าเชื่อถือ เพราะการถ่ายทอดแผนที่ในอดีตมาแผนที่ปัจจุบันมีความยาก ต้องใช้วิธีทางคณิตศาสตร์ อีกทั้งพบว่าส่วนตัดกันอยู่ห่างจากตัวปราสาทมากถึง 6.8 กิโลเมตร สำหรับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. กัมพูชาไม่มีแผนที่พิสูจน์ได้แน่นอน ซึ่งหลักฐานเกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นสิ่งที่น่าประหลาดว่ากัมพูชายื่นเพิ่มเติมหลังจากจบการนำเสนอ 

นางอลินา กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่กัมพูชาอ้างอิงสนธิสัญญาปี 1904 ว่าให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้พูดถึงตัวปราสาทพระวิหาร และระบุเพียงว่าเขตแดน ในแผนที่ฉบับอื่นๆ เช่นแผนที่ในปี1937 ที่แสดงให้เห็นตัวปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่ไม่สามารถใช้กำหนดเขตแดนได้ เพราะภูมิศาสตร์และภูมิประเทศไม่ชัดเจน รวมทั้งแผนที่ปี 1947 ที่ไทยเสนอต่อคณะกรรมการประนอม ระหว่างสยาม–ฝรั่งเศส ก็คล้ายกับแผนที่ภาคผนวก 1
อย่างไรก็ตาม เส้นในแผนที่ที่กัมพูชานำเสนอ มีความแตกต่างเฉพาะเขตที่เป็นพื้นที่ปราสาท และประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดนหรือไม่ ทั้งที่ไม่ชัดเจน แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาต้องการให้ศาลเห็นชอบให้ใช้เส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน และหากพิจารณาตามแผนที่ 85D เท่ากับกัมพูชามีความต้องการขยายอาณาเขตเดิม มาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ด้วย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น